วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โปรโตคอล (Protocol)คือ ระเบียบวิธีการในการติดต่อสื่อสาร เมื่อมาใช้กับเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม จึงหมายถึงขั้นตอนการติดต่อสื่อสาร ซึ่งรวมถึง กฎระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงมาตรฐานที่ใช้ เพื่อให้ตัวรับและส่งสามารถดำเนินกิจกรรมทางด้านการสื่อสารได้สำเร็จ ซึ่งมีมากมายหลายชนิด แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเพียงบางโปรโตคอลเท่านั้น


1. NetBEUI (NetBIOS Extended User Interface) เป็นโปรโตคอลที่ใช้กับเครือข่ายแบบไมโครซอฟต์ (Microsoft Network) ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์ โปรโตคอลชนิดนี้เหมาะในการใช้งานเครือข่ายขนาดเล็ก และไม่สามารถ Route ผ่านอุปกรณ์หาเส้นทาง (Router)ได้ทำให้ไม่สามารถใช้งานในเครือข่ายระยะไกลเช่น อินเตอร์เน็ตได้

2. IPX/SPX (Inter-network Packet Exchange/Sequenced Packet Exchange)เป็นโปรโตคอลที่พัฒนาโดยบริษัท โนเวลเพื่อใช้กับระบบปฏิบัติการเน็ตแวร์ โปรโตคอล ชนิดนี้สามารถ Route ผ่าน Router ได้ แต่มีประสิทธิภาพต่ำ

3. TCP/IP (Transmission Control Protocol/Internet Protocol) เป็นโปรโตคอลมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในระบบปฏิบัติการแบบยูนิกซ์ เพื่อเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์หลายชนิดที่อยู่ห่างไกลกัน ต่อมาได้พัฒนาเป็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โปรโตคอลนี้เหมาะสำหรับเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทั้งใกล้และไกลเข้าด้วยกัน เครื่องขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หรือจะใช้ระบบปฏิบัติการอะไรก็ตาม TCP/IP เป็นชุดโปรโตคอลที่ประกอบด้วยโปรโตคอลต่างๆ หลายโปรโตคอล แต่ละโปรโตคอลมีคุณลักษณะและมีความสามารถในการทำงานแตกต่างกัน ในที่นี้จะได้กล่าวถึงรายละเอียดและคุณสมบัติของโปรโตคอลที่สำคัญบางโปรโตคอลเท่านั้น คือ

3.1 FTP (File Transfer Protocol) ใช้ในการรับ-ส่ง แฟ้มข้อมูลระหว่างเครื่องลูกข่ายและเครื่องเซิร์ฟเวอร์ โดยที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์จะต้องมีโปรแกรมให้บริการ FTP (FTP Server) ติดตั้งและทำงานอยู่ เพื่อให้เครื่องลูกข่ายที่รันโปรแกรม FTP Client สามารถเข้ามาขอใช้บริการได้ นอกจากรับส่งแฟ้มข้อมูลแล้ว FTP ยังมีคำสั่งที่ใช้ในการแสดงชื่อแฟ้มข้อมูลบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ เปลี่ยนชื่อแฟ้มหรือลบแฟ้มข้อมูล

3.2 TELNET เป็นบริการที่ให้เครื่องลูกข่ายสามารถเข้าไปใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ โดยการจำลองตัวเองให้ทำงานเป็นเทอร์มินัล ผู้ใช้งานจะต้องใส่รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านเพื่อแจ้งการเข้าใช้เครื่อง เมื่อเข้าไปได้แล้วการทำงานต่างๆจะเหมือนกับการเข้าไปทำงานที่หน้าจอของเครื่องเซิร์ฟเวอร์

3.3 SMTP เป็นการให้บริการเพื่อรับส่งจดหมายอิเลคทรอนิคส์ (E-Mail) โดยที่ SMTP จะมีตู้ไปรษณีย์เพื่อทำหน้าที่รับจดหมายจากผู้อื่นที่ต้องการส่งให้ และเก็บจดหมายของผู้ใช้ที่ต้องการส่งไปยังผู้ใช้อื่น เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ตั้งไว้โปรแกรมจะทำการส่งจดหมายออกและรับจดหมายเข้ามา ผู้ใช้ก็สามารถจะเปิดอ่านได้เมื่อต้องการ ส่วนการรับส่งจดหมายระหว่างเครื่องลูกข่ายกับ SMTP Server ในลักษณะที่เป็น Client/Server จะใช้โปรโตคอลที่ชื่อว่า POP3 (Post Office Protocol)
3.4 HTTP (Hyper Text Transfer Protocol)
ใช้ในการติดต่อรับส่งข้อมูลชนิดไฮเปอร์เท็กซ์ (Hypertext) ระหว่างเครื่องลูกข่ายกับ WWW Server (World Wide Web) โดยที่เอกสารนี้จะอยู่ในรูปแบบที่เขียนในภาษา HTML (Hyper Text Markup Language) เอกสารแต่ละชิ้นจะสามารถเชื่อมโยงไปยังเอกสารชิ้นอื่นได้ ซึ่งเอกสารที่ถูกเชื่อมโยงนี้อาจจะอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันหรือต่างเครื่องกันก็ได้

3.5 DNS ( Domain Name System) ในการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบที่ใช้โปรโตคอล TCP/IP นั้นเครื่องเซิร์ฟเวอร์และเครื่องลูกข่ายทุกตัวจะต้องมีหมายเลขที่ใช้ในการระบุตัวเองคล้ายกับชื่อ-นามสกุลของคนเรา หมายเลขที่กล่าวมานี้เรียกว่า IP Address โดยเขียนในลักษณะนี้ 203.154.126.134 การจดจำ IP Address เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการจำชื่อของเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงเกิดการสร้างเซิร์ฟเวอร์ที่จะให้บริการการสอบถามชื่อเครื่องและ IP Address ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า Domain Name Services ในการใช้งานนั้นผู้ใช้เพียงแต่ระบุ IP Address ของเครื่องที่ให้บริการนี้แล้วเมื่อต้องการจะติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต DNS จะช่วยค้นหา IP Address ของเครื่องที่ต้องการให้เพื่อให้โปรแกรมสามารถใช้ IP Address ที่ได้ในการติดต่อ



ภาพแสดงการติดต่อสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ที่ใช้ DNS

ที่มา : http://openlove.mapandy.com